วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

การใช้ภาษาไทย



บทความ เรื่อง รณรงค์การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้วิถีชีวิต ของประชาชนคนไทย เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายแล้ว อิทธิพลของกระแสวัฒนธรรมต่างชาติ ที่หลั่งไหลเข้าสู่สังคมไทยอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเทคนิคการสื่อสารสมัยใหม่ ยังมีส่วนทำให้ ภาษาไทยที่ใช้ในปัจจุบัน ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน อยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมลงอย่างน่าเป็นห่วง เนื่องจากคนไทยเอง ได้ละเลยต่อความสำคัญ ในการใช้ภาษาไทย และมีการใช้ภาษาที่ผิดเพี้ยน ในการสื่อสารมากขึ้นทุกที จนเป็นที่น่าวิตกว่า หากไม่รีบช่วยกันแก้ไข นานไปเอกลักษณ์ และคุณค่าของภาษาไทย อาจสูญหายไปจนหมดสิ้น
ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการเสนอให้รัฐบาลจัดตั้ง วันภาษาไทยขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้น และปลุกจิตสำนึกให้คนไทย ได้ตระหนัก และเห็นคุณค่าของภาษาไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรี ก็ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็น วันภาษาไทยแห่งชาติตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และสนองพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์ท่านในด้านภาษาไทย รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้สถาบันการศึกษา องค์กร หน่วยงานต่างทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนชาวไทย ได้ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมใจกันใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง และรักษาภาษาไทย อันเป็นภาษาประจำชาติไว้ให้งดงามยั่งยืนตลอดไป การที่กำหนดเป็นวันนี้ เนื่องจากตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงเสด็จฯ ไปเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายกับผู้ทรงคุณวุฒิ ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 เกี่ยวกับปัญหาการใช้คำไทย ซึ่งได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถ และความสนพระราชหฤทัยห่วงใยในภาษาไทย จนเป็นที่ประทับใจ ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง และนับเป็นครั้งแรก และครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว
พระราชดำรัสในครั้งนั้น ตอนหนึ่งความว่า เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่ง ต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก...นอกจากนี้ ยังมีพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2512 ความว่า ในปัจจุบันนี้ ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคน จึงมีหน้าที่จะตัองรักษาไว้ ฉะนั้น จึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษา ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น